ประชาสัมพันธ์แผ่นพับความรู้โรคเอดส์
07 มิ.ย. 65โรคเอดส์ (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome)
โรคเอดส์คืออะไร?
โรคเอดส์ (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปจนถึงระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจนทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนที่เรียกว่า ”โรคติดเชื้อฉวยโอกาส”
โรคเอดส์ต่างจากการติดเชื้อ HIV อย่างไร?
การติดเชื้อ HIV กับโรคเอดส์มีความแตกต่างกัน เพราะการติดเชื้อ HIV ไม่ใช่โรคแต่เป็นการที่ร่างกายได้รับไวรัส HIV เข้าไป ซึ่งยังไม่แสดงอาการรุนแรงในระยะแรก มีเพียงอาการที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายจากการได้รับเชื้อ ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสบางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อก็ได้ เมื่อไม่ได้รับการรักษาจะทำให้การติดเชื้อ HIV ดำเนินเข้าสู่ระยะที่สองคือระยะเเพร่เชื้อ และเข้าสู่ระยะที่เริ่มแสดงอาการ เช่น เป็นไข้ ท้องร่วง เป็นงูสวัด ถ้าหากยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส ปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายก็จะสูงขึ้นจนทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรียกว่า “ระยะเอดส์” ดังนั้น “โรคเอดส์” จึงเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV นั่นเอง
สาเหตุของโรคเอดส์
สาเหตุมาจากการได้รับเชื้อไวรัส HIV ผ่านทางการรับของเหลว เช่น เลือด น้ำนมแม่ น้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด ทำให้ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะได้รับผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งนี้การที่ไวรัสส่งผ่านทางของเหลวทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV สามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสจากแม่ไปยังลูกในครรภ์ได้เช่นกัน
อาการของโรคเอดส์
อาการโรคเอดส์ระยะเริ่มแรก
หรือเรียกระยะเฉียบพลัน ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัส HIV จะมีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นอาการตอบสนองของร่างกายจากการได้รับเชื้อ
อาการโรคเอดส์ระยะสงบ
ระยะนี้ของโรคเอดส์สามารถกินเวลาเป็น 10 ปี และมีเชื้อเพิ่มขึ้นในปริมาณต่ำ ทำให้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการออกมา แต่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ ทำให้ยังคงต้องทานยาต้านเชื้อเพื่อไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคเอดส์เร็วเกินไป
อาการระยะสุดท้ายหรือระยะเอดส์
เป็นระยะที่เข้าสู่การเป็นโรคเอดส์ซึ่งภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยถูกทำลายไปจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ มีเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 น้อยกว่า 200 cumm. และมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคฉวยโอกาสซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น โรคปอดอักเสบ การติดเชื้อราที่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบในปาก ช่องคลอด ปอด หรือการติดเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายกับตา ก่อเป็นวัณโรค จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้
อาการท้องเสียของคนเป็นเอดส์
อาการท้องเสียจากโรคเอดส์จะมีอาการถ่ายเหลว มีน้ำเยอะมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรืออาจมีมูกเลือดปนออกมาด้วยในบางครั้ง อาการท้องเสียมักจะเกิดร่วมกันกับอาการไข้และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
โรคเอดส์และการติดเชื้อในกระแสเลือด
โรคเอดส์ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง จนไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต้านไวรัสได้ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดการอักเสบและติดเชื้อในร่างกายและกระจายสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดภาวะช็อกและอวัยวะภายในล้มเหลวได้
การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV
ปัจจุบันมี 3 วิธีหลักคือ
- Antibody HIV เป็นวิธีตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือภูมิคุ้นเคย (Antibody) โดยตรวจได้หลังจากได้รับเชื้อ 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- NAT (Nucleic Acid Technology) สามารถตรวจหาเชื้อได้หลักจากรับเชื้อไปแล้ว 5 วัน โดยใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV
- PCR โดยวิธีนี้จะตรวจได้หลังจากรับเชื้แล้ว 2 สัปดาห์ขึ้นไป เป็นการตรวจเพื่อหาชิ้นส่วนของเชื้อไวรัส
อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
เมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัส HIV ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ หรือหากน้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้หลายสัปดาห์ติดต่อกัน ท้องเสียเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหรือขาหนีบโต ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค
การรักษาโรคเอดส์
ในกรณีปกติจะใช้การรักษาโรคเอดส์ด้วยการให้ยาต้านไวรัส HIV กับผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปตลอดชีวิต และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากการให้ยาต้านไวรัส แต่มีผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายที่หายจากโรคเอดส์ได้ พบว่าหลังจากหยุดรับยาต้านไวรัสก็ไม่สามารถตรวจเจอเชื้อไวรัสได้อีก ซึ่งปัจจุบันได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การรักษาโรคเอดส์สามารถหายขาดได้ เช่น วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยากระตุ้นไวรัสเพื่อให้การทำงานของยาต้านไวรัสได้ผลมากขึ้น
ยารักษาโรคเอดส์
ปัจจุบันการรักษาโรคเอดส์ทำได้โดยการให้ยาต้านไวรัส HIV โดยสูตรยาต้านไวรัส HIV จะใช้รวมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป ตัวยาจะทำหน้าที่ในการหยุดการแบ่งตัวเพื่อไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวน ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
- Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs)
- Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs)
- Protease inhibitors (PIs)
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเอดส์
ควรทำ
- ผู้ป่วยโรคเอดส์ควพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และพักผ่อนเมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย
- พยายามลดความเครียดโดยการหากิจกรรมที่ชอบทำหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลาย
- ผู้ป่วยโรคเอดส์ควรรับประทานยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาเป็นประจำและต่อเนื่องทุกวันตลอดชีวิต เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย
- ดูแลตัวเองในด้านสุขอนามัยเพื่อไม่ให้เกิดโรคฉวยโอกาสและเพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ ความสะอาดของร่างกาย
- ระมัดระวังโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคจากแหล่งต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนที่ไม่สบายหรือติดเชื้ออื่นๆ
- ไม่ควรทานอาหารดิบ ต้องปรุงสุกก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ระมัดระวังสัตว์เลี้ยงและการทำสวนเพราะอาจทำให้สัมผัสกับเชื้อโรคได้
- ควรทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้อย่างสม่ำเสมอ
- ที่สำคัญคือไม่ควรให้เลือด น้ำปัสสาวะ น้ำอสุจิ หรือของเหลวจากร่างกายไปสัมผัสกับบุคคลอื่น เช่น ในกรณีที่มีแผล ก็ควรทำความสะอาดและปิดแผลเพื่อลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ
ไม่ควรทำ
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งกระทบต่อร่างกายโดยเฉพาะตับ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง
- ห้ามสูบบุหรี่เพราะนอกจากจะทำลายปอดแล้วยังทำลายส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย
- ทานยาตัวอื่นๆ เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงกับร่างกายและส่งผลให้ประสิทธิภาพของยารักษาโรคเอดส์ลดลง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคเอดส์
1. เอดส์ติดต่อง่ายไหม?
คนทั่วไปมีความเข้าใจที่ผิดและอาจรู้สึกรังเกียจผู้ป่วยเอดส์เพราะเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากได้รับเลือดและการมีเพศสัมพันธ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคเอดส์ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ เพราะสารคัดคลั่งที่ออกจากร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในสภาวะแวดล้อมภายนอกและอุณหภูมิสูงได้นาน อีกทั้งของเหลวแต่ละชนิดก็มีปริมาณไวรัสที่ไม่เท่ากัน สารคัดหลั่งที่มีเลือดหรือเม็ดเลือดขาวจะมีเชื้อไวรัส HIV จำนวนมาก เช่น เลือด น้ำหนอง น้ำอสุจิ
ในขณะที่ของเหลวที่ไม่มีเลือดปะปนจะพบปริมาณไวรัสน้อยกว่า เช่น ปัสสาวะ น้ำลาย เหงื่อ ดังนั้นโอกาสที่จะติดมักจะเกิดขึ้นจากการได้รับเลือดหรือมีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยก็ไม่ได้ทำให้ติดไวรัสเสมอไป ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่สัมผัสด้วย ทั้งนี้ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันและหลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงทั้งหมดที่จะทำให้ได้รับเชื้อ ทั้งการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
2. เป็นเอดส์กินเหล้าได้ไหม?
ผู้ป่วยโรคเอดส์ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานแย่ลง อีกทั้งแอลกอฮอล์ยังมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมยาของร่างกายลดลงด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำงานได้ดี ช่วยควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสให้ไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
3. เลือดคนเป็นเอดส์เข้าปาก ต้องทำอย่างไร?
ถ้าเลือดของผู้ป่วย HIV เข้าปากและผู้ที่ได้รับเชื้อมีแผลในช่องปาก มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ เพราะเชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุในช่องปาก แต่ถ้าหากเลือดจากตัวผู้ป่วยไม่ได้เข้าปากทันที เมื่อไวรัสโดนความร้อนอุณหภูมิสูงๆ จากอากาศภายนอก ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อลดลง
4. ตรวจโรคเอดส์ราคาเท่าไหร่?
คนไทยทุกคนสามารถเข้าตรวจโรคเอดส์ฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐได้ปีละ 2 ครั้ง แต่หากไม่ได้เข้าตรวจในโรงพยาบาลรัฐ ราคาค่าตรวจโรคเอดส์จะขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการตรวจและสถานที่ที่เข้ารับการตรวจ โดยส่วนใหญ่การตรวจในคลินิกจะมีราคาอยู่ระหว่าง 250-1,600 บาท ส่วนการตรวจในโรงพยาบาลเอกชนจะเริ่มต้นที่ 600 บาท หรือสามารถใช้ชุดตรวจ HIV แบบตรวจด้วยตนเอง ซึ่งมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 500 บาท
5. เป็นเอดส์มีลูกได้ไหม?
ผู้ติดเชื้อ HIV ที่อาการของโรคดำเนินมาถึงระยะ “โรคเอดส์” แล้วไม่ควรมีลูก เนื่องจากทารกในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อ HIV จากแม่ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงที่การตั้งครรภ์จะทำให้ตัวแม่เองอ่อนแอและเกิดอาการแทรกซ้อนหรือติดโรคฉวยโอกาสและเสียชีวิตได้
6. เป็นเอดส์ผ่าตัดได้ไหม?
ผู้ป่วยเอดส์สามารถเข้ารับการรักษาได้ แต่การรักษาโดยเฉพาะการผ่าตัดอาจจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้นผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ที่มีเชื้อ HIV ควรแจ้งประวัติของตนเองให้ทางโรงพยาบาลทราบก่อนทำการผ่าตัด
ที่มา : https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/aids.html