การจัดการพื้นที่สีเขียวในวัดอย่างยั่งยืน

07 มิ.ย. 64

การเพิ่มขึ้นของประชากร การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจและความต้องการที่อยู่อาศัย    ที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้ เกิดการขยายตัวของเมืองที่ส่งผลต่อพื้นที่สีเขียวที่ลดลง  รวมถึงการปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่าไม่ใช้ประโยชน์ การขาดการดูแลรักษา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียพันธุ์ไม้ที่จะเรียนรู้ด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เกิดการขาดพื้นที่ว่างเพื่อนันทนาการเนื่องจากบริเวณกลางเมืองมีแต่อาคารและถนน ไร้ทิศทางการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า ทำให้ที่ว่างและพื้นที่สีเขียวในเมืองซึ่งเคยเป็น      ที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองในอดีตหายไป  จากปัญหาดังกล่าว สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการเชิงนโยบายด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวชุมชนอย่างยั่งยืน1 เมื่อเดือนกรกฏาคม 2550  ซึ่งได้ปรากฏแนวทางการดำเนินงาน และมาตรการเพื่อให้มีการดำเนินการจัดการพื้นที่สีเขียวในศาสนสถานด้วย อันบ่งชี้ถึงการจัดการพื้นที่สีเขียวในภาพรวมของชุมชนที่ให้ความสำคัญต่อการจัดการพื้นที่เขียวในศาสนสถาน เนื่องจากศาสนสถานถูกใช้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เป็นศูนย์กลางของชุมชน การพัฒนาคน และศูนย์รวมจิตใจ

การจัดการพื้นที่สีเขียวในศาสนสถาน ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด พบว่า วัดในเขตเมืองมีการจัดภูมิทัศน์ของพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะวัดพระอารามหลวงจะมีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ พบว่า วัดป่าจะมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์  โดยความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมกันดูแล รวมถึงความศัทธาต่อเจ้าอาวาสวัดและนโยบายของวัดในการดูแล บำรุงรักษาพื้นที่สีเขียว  ทั้งนี้ยังพบว่า วัดบางแห่งเจาะจงปลูกไม้เศษฐกิจเจาะจงชนิดพันธ์หรือมีเพียงระดับเรือนยอดเดียว ซึ่งนิยมปลูก ต้นตะเคียน ต้นสัก ต้นยางนา ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจและสนใจในการอยู่กับธรรมชาติของพระสงฆ์  การดูแลและบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียวให้มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพหรือหลายชั้นยอด เพื่อความเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยกันของระบบนิเวศภายในวัด

การขับเคลื่อนให้มีการจัดการพื้นที่สีเขียว  ในศาสนสถานที่มุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืน (เจษฏาพร,มปป)  ควรพิจารณาการดำเนินการ ดังนี้

1. การปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ให้ร่มเงาแก่พื้นที่สามารถดำเนินการในพื้นที่บริเวณลานจอดรถ     ลานกิจกรรม ประเพณี พื้นที่รกร้างส่วนหนึ่งส่วนใด พื้นที่สองข้างทางเดินเท้าและริมถนน ซึ่งต้นไม้ใหญ่    ในลักษณะนี้อาจเป็นชนิดพันธุ์เดียวกัน เพื่อให้เกิดความความสม่ำเสมอและการดูแลจัดการง่าย เป็นไม้ยืนต้น ที่ให้ร่มเงา หลีกเลี่ยงไม้ผลัดใบ ไม้ดอก ไม้ผลที่ร่วงหล่นง่าย

2. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในลักษณะของไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น และไม้คลุมดิน ผสมผสานกับสนามหญ้า ก่อให้เกิด ประโยชน์ทั้งในแง่ของการชะลอการไหลของน้ำลงสู่ผิวดินและเป็นการสร้างบรรยากาศบริเวณโดยรอบให้มีความสวยงาม อีกทั้งค่าบำรุงรักษามีจำนวนไม่มากเท่ากับสนามหญ้าทั้งหมด การเพิ่มพื้นที่สีเขียวดังกล่าว ควรเกิดขึ้นในบริเวณรอบเมรุวัด อุโบสถ พื้นที่เก็บอัฐิหรือพื้นที่รกร้างต่าง ๆ

3. พัฒนาพื้นที่ติดริมน้ำโดยการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่ให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นและเปิดให้ ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยการส่งเสริมให้มีพื้นที่สีเขียวในลักษณะของพรรณไม้ขนาดใหญ่ให้ร่มเงาปกคลุมแก่พื้นที่ อย่างเหมาะสม จัดวางองค์ประกอบพื้นที่ให้มีภูมิทัศน์ที่งดงาม มีพื้นที่สำหรับนั่งเล่นหรือพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดูแลพื้นที่ อย่างสม่ำเสมอให้มีความสะอาด เป็นระเบียบ

4.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในลักษณะสวนแนวตั้ง สำหรับวัดซึ่งเหลือพื้นที่ว่างอยู่น้อย ควรมีการจัดการพื้นที่สีเขียว ในลักษณะสวนแนวตั้ง เพื่อประหยัดเนื้อที่ใช้สอย สวนแนวตั้งดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสวยงามร่มรื่นและช่วยลดความแข็ง กระด้างของวัสดุพื้นดาดแข็ง บริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมาให้มีการจัดทำเป็นสวนแนวตั้งของวัด ได้แก่ พื้นที่บริเวณ ทางเดินริมรั้ว บริเวณตามเสาหรือจุดสำคัญต่าง ๆ ภายในอาคารของวัดและพื้นที่บริเวณท่าน้ำ เป็นต้น

5. การจัดการงบประมาณ เนื่องจากการจัดทำพื้นที่สีเขียวไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตามย่อมต้องใช้งบประมาณ ในการจัดทำ ซึ่งเป็นภาระหนักของวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้การสนับสนุน

ความร่มรื่นและความเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งดั้งเดิมที่อยู่คู่กับวัดเสมอมา การเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้ม ทำให้วัดมีความสำคัญในเชิงของการเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่พึ่งทางจิตวิญญาณ ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่สีเขียว จะเห็นวัดบางแห่งเป็นแหล่งสะสมพันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์และมีป้ายสื่อสารบอกชื่อต้นไม้ ซึ่งจะทำให้วัดเป็นศูนย์เรียนรู้พื้นที่สีเขียวด้วย นอกเหนือจากความสำคัญของวัดดังที่กล่าวมา

1 พื้นที่สีเขียวยั่งยืน หมายถึง พื้นที่สีเขียวที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ (ต้นไม้ที่มีอายุยืนหลายปีเมื่อโตเต็มที่จะมีทรงพุ่มไม่น้อยกว่า 5 ตารางเมตร มีความสูงไม่น้อยกว่า 5 เมตร มีเส้นรอบวงโคนต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร) เป็นองค์ประกอบหลัก และได้รับการดูแล บำรุงรักษาให้คงอยู่ อย่างยั่งยืน (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2550)

เอกสารอ้างอิง

1. เจษฎาพร กิติเวชานนท์ และ วราลักษณ์ คงอ้วน, มปป. “แนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวในศาสนสถานอย่างยั่งยืน”  วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล 2. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. แผนปฏิบัติการ เชิงนโยบายด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน, 2550